ตำรวจยัน "ลูกชิ้นตัวเงินตัวทอง" เป็นเฟคนิวส์ หลังบุกจับพ่อค้าตัวเงินตัวทอง
วันที่ 28 ก.พ.2566 ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) พร้อมด้วย นายพัฒนยุทธ เพ็ชรมณี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ 1 หน่วยปฏิบัติการพิเศษสำนักงานสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามที่ 1 (ภาคกลาง) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้าตรวจค้นบ้านหลังหนึ่ง ต.บ้านโข้ง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี พบนายมนต์ (สงวนนามสกุล) อายุ 73 ปี รับว่าเป็นเจ้าของบ้าน ได้นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบบริเวณบ้าน
จากการตรวจสอบพบสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน 4 ชนิด ได้แก่ ตัวเงินตัวทองที่ยังมีชีวิตอยู่ในถุง 32 ตัว , ซากตัวเงินตัวทอง 59 ซาก , เต่านา 20 ตัว , เต่าหับ 2 ตัว และเต่าดำ 6 ตัว ทั้งยังพบชาวบ้านที่มารับจ้างชำแหละแปรรูปตัวเงินตัวทองอีก 5 คน นอกจากนี้ยังพบอุปกรณ์ที่ใช้ชำแหละซากสัตว์ 6 รายการ ประกอบด้วยมีด 14 เล่ม , ขวาน 1 เล่ม , ค้อน 2 อัน , เครื่องชั่งกิโล 1 เครื่อง , ไม้ทุบ 1 ด้าม , ถังแก๊สหุงต้ม 4 ถัง พร้อมหัวที่ใช้สำหรับเผาแก๊ส 3 หัว และถุงตาข่ายพลาสติกสำหรับใส่ 32 ถุง
จากการสอบถามคนงานให้การว่า มารับจ้างนายมนต์ ชำแหละตัวเงินตัวทอง โดยได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท โดยไม่ทราบว่าสัตว์ดังกล่าวเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่มีไว้เป็นความผิด และได้มาถูกต้องหรือไม่ อย่างไร กลุ่มของตนเป็นแค่คนรับจ้างเท่านั้น
วันที่ 1 มีนาคม 2566 ตำรวจสอบสวนกลาง ได้ชี้แจงข่าวว่า กรณีที่มีเพจหนึ่งโพสต์รูปภาพตัวเงินตัวทอง พร้อมข้อความระบุว่า บุกทลายโรงงานผลิตลูกชิ้นปลาเจ้าใหญ่ที่ดัดแปลงใช้เนื้อของตัวเงินตัวทองมาทำเป็นลูกชิ้นปลาเนื้อขาวใสไร้ความคาว ส่วนหนังน่านำไปตากแห้งทำเป็นหนังปลาทอดกรอบ จัดจำหน่ายส่งขายทั่วประเทศมานานแล้ว
ตำรวจสอบสวนกลาง โดย บก.ปทส. ขอระบุว่า ภาพดังกล่าวเป็นผลงานการจับกุมของตำรวจ บก.ปทส. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ที่เข้าตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องหาที่ลักลอบซื้อขายเพื่อการค้าและมีไว้ในครอบครองซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จำพวกสัตว์เลื้อยคลาน ในพื้นที่อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เมื่อวานที่ผ่านมา โดยจากการสอบถามผู้ต้องหา และจากการสืบสวน ยืนยันว่า ซากตัวเงินตัวทองเหล่านี้ เตรียมนำไปขายต่อที่ตลาดชายแดนภาคตะวันออก เพื่อนำไปประกอบเป็นอาหารป่าขายแก่ผู้ชื่นชอบเท่านั้น ไม่ได้เป็นไปตามที่มีกระแสข่าวแต่อย่างใด
ผิดกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า
เจ้าหน้าที่จึงแจ้งให้ทราบว่าสัตว์ดังกล่าวเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย และการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 17 ประกอบมาตรา 92 ข้อหา ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซี่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและ มาตรา 29 ประกอบมาตรา 89 ข้อหา ร่วมกันค้าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ