ลักษณะของการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก...

องค์การอนามัยโลก (WHO) แบ่งประเภทการกระทำที่เข้าข่ายการใช้ความรุนแรงต่อเด็กไว้ 4 ประเภท ดังนี้

  • การทำร้ายร่างกาย (Physical Abuse) คือ การทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย เช่น ทุบ ตบตี หยิก เตะ ใช้น้ำร้อนหรือไฟลวกที่ตัวเด็ก โดยผู้กระทำตั้งใจทำ ไม่ได้เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ
  • การทำร้ายจิตใจ (Emotional Abuse) เช่น การใช้คำพูดดุด่า ดูถูก ข่มขู่ คุกคาม รวมทั้งการกระทำที่ทำให้เด็กรู้สึกอับอาย กลัว และเมินเฉยต่อความต้องการของเด็ก ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กในอนาคต
  • การล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Abuse) เช่น การเปิดอวัยวะเพศหรือช่วยตัวเองให้เด็กดู การให้เด็กดูภาพหรือวิดีโอโป๊ การสัมผัสร่างกายเด็ก การสอดใส่อวัยวะเพศหรือสิ่งของอย่างอื่นทางปาก ช่องคลอด หรือทวารหนักของเด็กโดยที่เด็กไม่ยินยอม การค้าประเวณีเด็ก 

การทอดทิ้ง (Neglect) คือ การที่ผู้ดูแลไม่เอาใจใส่เกี่ยวกับสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเด็ก เช่น อาหาร เสื้อผ้า การศึกษา สุขอนามัย ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก

เช็กอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก

เนื่องจากเด็กที่เป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงอาจไม่กล้าบอกใครว่าตนเองถูกทำร้าย เนื่องจากกลัวว่าจะไม่มีใครเชื่อหรือถูกข่มขู่ว่าจะทำร้ายหากบอกคนอื่น เด็กหลายคนอาจถูกคนในครอบครัวที่รักและไว้ใจทำร้าย ทำให้ไม่สามารถบอกคนอื่นได้ว่าถูกทำร้ายอยู่ หรือเด็กบางคนอาจไม่รู้ตัวว่าถูกทารุณกรรม คนใกล้ชิดและคนที่พบเห็นเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงต่อเด็กจึงควรสังเกตอาการผิดปกติของเด็กที่อาจบ่งบอกว่าเด็กกำลังถูกทารุณกรรม เช่น

ความผิดปกติทางร่างกาย

เด็กมักมีร่องรอยการบาดเจ็บตามร่างกายที่ไม่ทราบสาเหตุ เช่น รอยฟกช้ำ รอยแผลแตก รอยไหม้ กระดูกหัก ลักษณะบาดแผลซึ่งไม่ตรงกับที่มาของบาดแผลตามที่เด็กเล่า มีอาการปวดศีรษะหรือปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ เด็กที่ถูกทอดทิ้งมักมีน้ำหนักและส่วนสูงน้อยกว่าเกณฑ์ ร่างกายขาดสารอาหาร พัฒนาการและการเรียนรู้ก็ช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน ส่วนเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอาจปัสสาวะรดที่นอน มีเลือดออกที่กางเกงใน เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ และตั้งครรภ์

ความผิดปกติทางอารมณ์และพฤติกรรม

เด็กมักมีอาการหวาดกลัว หวาดระแวง ตกใจง่าย วิตกกังวล ซึมเศร้า ร้องไห้บ่อยผิดปกติ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ก้าวร้าว และมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ ฝันร้าย เก็บตัวจากคนอื่น กลัวการไปโรงเรียน กลัวการทำกิจกรรมกับคนอื่น หรือผลการเรียนแย่ลง

พฤติกรรมที่ผิดปกติของเด็กอาจต่างกันตามสาเหตุของการถูกทำร้าย เช่น เด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอาจหมกมุ่นเรื่องเพศหรือแสดงพฤติกรรมทางเพศที่ผิดปกติ เด็กที่ถูกทอดทิ้งมักขาดสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานอย่างอาหารและเสื้อผ้า จึงอาจมีพฤติกรรมลักขโมยเงิน สิ่งของ หรืออาหาร นอกจากนี้ การใช้ความรุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อเด็กในระยะยาว เช่น ไม่ได้รับการศึกษาที่เพียงพอจึงอาจทำให้ไม่ได้รับการจ้างงานในอนาคต ความเครียดเรื้อรัง โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) การใช้สารเสพติด ปัญหาความสัมพันธ์ เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อหรือเป็นผู้กระทำ Child Abuse ในอนาคต และอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

วิธีการช่วยเมื่อพบเห็นเด็กถูกทำร้าย

กรณีที่คุณพบเห็นเด็กถูกทำร้ายหรือถูกกระทำด้วยความรุนแรงในที่สาธารณะ ให้รีบเข้าไปช่วยเหลือเด็กทันทีเพื่อให้การทำร้ายนั้นหยุด และเด็กได้รับความปลอดภัย แต่ทั้งนี้คุณต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองด้วย หรือกรณีที่เรารู้ว่าเด็กจะถูกทำร้ายในช่วงเวลาไหนบ้าง เช่น เด็กถูกทำร้ายหลังเลิกเรียนทุกวัน เราอาจจะช่วยนำเด็กมาดูแล หรือดึงเด็กออกมาจากสถานที่นั้นในช่วงเวลานั้น เพื่อลดการถูกกระทำของเด็กในเบื้องต้นจนกว่าจะมีหน่วยงานมาช่วยเหลือ

หากคุณสงสัยหรือพบเห็นเด็ก..มีรอยฟกช้ำตามร่างกาย มีบาดแผลที่เกิดจากการกระทำของคน ร้องไห้ด้วยความเจ็บปวดเป็นประจำ คุณสามารถช่วยเหลือเด็กได้ด้วยการโทรศัพท์แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาช่วยเหลือเด็ก โดยข้อมูลที่ต้องให้แก่เจ้าหน้าที่เบื้องต้นเพื่อเข้ามาช่วยเหลือเด็ก ได้แก่

  • เด็กที่ถูกทำร้ายเป็นใคร บ้านอยู่ที่ไหน ใครเป็นคนทำร้าย (ใคร? ทำอะไร? ที่ไหน? อย่างไร?)
  • แจ้งชื่อและเบอร์ติดต่อของผู้แจ้ง เพื่อเจ้าหน้าที่ขอรายละเอียดเพิ่มเติม (ข้อมูลของผู้แจ้งจะถูกปิดเป็นความลับเพื่อความปลอดภัย

ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก  มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก , POBPAD

Contact

โทรศัพท์ : 029972200 ต่อ 1283
โทรสาร : 029972200 ต่อ 1216
อีเมล : cjarsu@gmail.com

Address

มหาวิทยาลัยรังสิต เลขที่ 52/347 หมู่บ้านเมืองเอก ถ.พหลโยธิน ต.หลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี 12000