ในช่วงอากาศที่เริ่มร้อนอบอ้าวในช่วงที่ผ่านมานี้ ทำเอาหลายๆ คนถูกส่งโรงพยาบาลด้วยอาการ “โรคลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก” ซึ่งที่ผ่านมาได้เกิดขึ้นกับ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม “เอ๋” ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ก็เกิดภาวะดังกล่าวจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลบุรีรัมย์ หลังมีอาการหมดสติ ขณะซ้อมแข่งขันรถยนต์ที่สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต
ในบทความวันนี้ทางคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม จะพาทุกไปรู้จักกับ “โรคลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก” ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร มีอาการอย่างไรบ้าง และหากเกิดขึ้นกับตัวเรา หรือคนใกล้ตัวจะมีวิธีรักษาอย่างไร รวมถึงวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ ”ฮีทสโตรก”
โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก คือ ภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินไป เกิดจากการสัมผัสกับอากาศที่ร้อนจัดหรือการออกกำลังกายเป็นเวลานานโดยที่ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ โดยอาการอาจเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิเพิ่มสูงถึง 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป เมื่อเกิดอาการควรได้รับการรักษาในทันที เพราะอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ หากได้รับการรักษาล่าช้าอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
อาการของโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก เกิดขึ้นได้ในทันทีโดยที่ไม่มีสัญญาณเตือน และอาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันออกไปแต่ละบุคคล โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นถึง 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป
ร่างกายไม่ขับเหงื่อออกแม้จะมีอุณหภูมิในร่างกายสูง
ผิวหนังแดง เนื่องจากอุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูง
ผิวหนังของผู้ป่วยจะแห้งและร้อน แต่กรณีที่เป็นโรคลมแดดจากการออกกำลังกายผิวอาจมีความชื้นอยู่บ้าง
เป็นตะคริวหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
หายใจถี่และตื้น
หัวใจเต้นเร็ว
มีอาการปวดศีรษะตุบ ๆ
คลื่นไส้ อาเจียน
มีอาการชัก
วิงเวียนศีรษะ มึนงง หน้ามืด หรือเป็นลมหมดสติ
มีสภาพจิตใจหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น สับสนมึนงง กระสับกระส่าย หงุดหงิด พูดไม่ชัด มีอาการเพ้อ หรือไม่สามารถทรงตัวได้
การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง เมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงหรืออยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นและไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ตามปกติ เช่น เมื่อต้องอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนและชื้นเป็นเวลา 2 หรือ 3 วันติดต่อกัน มักจะเกิดขึ้นบ่อยกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง
การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมาก เมื่อออกกำลังกายหรือทำกิจรรมที่ใช้กำลังมาก โดยเฉพาะเมื่อทำกิจกรรมในสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัดมักเป็นเหตุทำให้เกิดโรคลมแดดได้ อย่างไรก็ตาม โรคลมแดดประเภทนี้อาจเกิดขึ้นได้แม้ไม่ได้อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อน
การรักษาโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งผู้ที่เกิดอาการต้องได้รับความช่วยเหลือในทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสมองและอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย ด้วยการทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงเป็นปกติโดยเร็ว
เบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล คนรอบข้างอาจช่วยเหลือผู้ป่วยได้โดยการนำตัวไปไว้ในที่ร่มหรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ ถอดหรือคลายเสื้อผ้าที่คับแน่นออก และประคบด้วยความเย็น
ให้ผู้ป่วยอาบน้ำเย็นหรือแช่ตัวลงไปในน้ำเย็น เป็นวิธีที่จะช่วยให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงได้อย่างรวดเร็ว
แพทย์บางท่านจะใช้เทคนิคการระเหย โดยใช้น้ำเย็นชโลมตามผิวหนังของผู้ป่วยและใช้พัดลมเป่าให้เกิดการระเหย ซึ่งเป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้ร่างกายเย็นลง
ใช้แพคน้ำแข็งประคบไปที่บริเวณรักแร้ ขาหนีบ คอและหลัง เพราะบริเวณดังกล่าวจะมีเส้นเลือดที่ใกล้กับชั้นผิวหนังอยู่จำนวนมาก วิธีนี้จะช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายได้เป็นอย่างดี
พยายามทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงมาที่ประมาณ 38.3-38.8 องศาเซลเซียส โดยคอยเฝ้าดูด้วยเทอร์มอมิเตอร์ ในขณะที่ยังคงใช้วิธีรักษาเพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย
หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัว ควรให้ดื่มน้ำเย็นที่ไม่มีส่วนผสมของคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
วิธีการรักษาเพื่อทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหนาวสั่น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอุณหภูมิในร่างกายเพิ่มขึ้น แต่ทำให้วิธีการรักษาโรคลมแดดมีประสิทธิภาพลดลง แพทย์จึงอาจให้ผู้ป่วยใช้ยาที่ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวลง เช่น ยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) เพื่อบรรเทาอาการหนาวสั่น
แพทย์อาจให้น้ำเกลือหรือเกลือแร่สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะขาดน้ำ
ข้อมูลอ้างอิง : กรมควบคุมโรค กระทรวงมหาดไทย และ คมชัดลึก