ลายนิ้วมือ (Fingerprint)

     ลายนิ้วมือ หรือ Fingerprint คือลายเส้นที่ปรากฎอยู่บนผิวหนังด้านหน้าของนิ้วมือ และเป็นสื่งที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์บุคคลได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าเจ้าของลายนิ้วมือจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตามแต่ ซึ่งลายนิ้วมือนั้นมีลักษณะที่ความแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน ทำให้ลายนิ้วมือของทุกคนบนโลกนั้นไม่ซ้ำกันเลยและจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม แต่ทว่าลายนิ้วมือกลับเป็นตัวลดผิวสัมผัสระหว่างนิ้วมือกับวัตถุ ทำให้เกิดความลื่นแทนที่จะช่วยให้หยิบจับได้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น ในบทความนี้คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับลายนิ้วมือ แบ่งออกได้กี่ชนิด มีกี่ประเภท และประโยชน์ของลายนิ้วมือครับ

ขอขอบคุณภาพจาก 1belief.com

เส้นลายนิ้วมือ

     เส้นลายนิ้วมือ ประกอบด้วยลักษณะเส้น 2 ชนิด

  1. เส้นนูน หรือสันลายนิ้วมือ (Ridge) ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นนูนโค้งที่ยกสูงกว่าพื้นผิวหน้านิ้วมือ บริเวณดังกล่าวนิยมใช้เก็บเป็นหลักฐานแสดงเอกลักษณ์บุคคลด้วยการพิมพ์ลายนิ้วมือ เมื่อประทับพื้นผิวหน้านิ้วมือที่เปียกหมึกลงบนกระดาษจะปรากฏเส้นนูนให้เห็นชัดเจน
  2. ร่องลายนิ้วมือ (Furrow) มีลักษณะเป็นร่องสีขาวสลับอยู่ระหว่างเส้นนูน ไม่ปรากฏให้เห็นเมื่อพิมพ์ลายนิ้วมือ แต่ในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลต้องใช้ลักษณะเส้นทั้ง 2 ชนิดประกอบกันจึงจะได้เส้นลายนิ้วมือที่สามารถบ่งชี้เจ้าของลายนิ้วมือได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์และถูกต้องแม่นยำ
ขอขอบคุณภาพจาก 1belief.com

รูปแบบเส้นนูนของลายนิ้วมือ

     นักวิทยาศาสตร์ได้จำแนกรูปแบบลายนิ้วมือที่เป็นชนิดเส้นนูนออกเป็น 8 ประเภท ดังนี้

  1. ก้นหอยธรรมดา (plain whorl)
    เป็นลักษณะลายนิ้วมือที่พบได้ประมาณ 25-35% ของลายนิ้วมือทั้งหมด สังเกตได้ง่าย ๆ จากเส้นนูนที่เวียนวนเป็นรอบวงกลมรูปร่างคล้ายก้นหอยหรือลานนาฬิกา ทั้งนี้ ลายนิ้วมือของมนุษย์เกิดขึ้นขณะเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา หากแผ่นหนาที่ต่อมาจะพัฒนาเป็นมือมีลักษณะแบนและสมมาตรก็มีความเป็นไปได้สูงที่มือดังกล่าวจะมีรอยนิ้วมือแบบก้นหอยธรรมดา
  2. มัดหวายปัดขวา (right slant loop หรือ radial loop)
    ลายนิ้วมือแบบมัดหวายพบได้มากที่สุดในคนทั่วโลก โดยลายนิ้วมือแบบมัดหมายปัดขวา สังเกตได้จากจุดสันดอนเพียงหนึ่งจุด และเส้นวกหลักอย่างน้อยหนึ่งเส้นที่ปัดไปทางทิศขวาตามชื่อมัดหวายปัดขวา
  3. มัดหวายปัดซ้าย (left slant loop หรือ ulnar loop)
    มีลักษณะเด่นคือ ปลายเส้นเกือกม้าปัดไปทางซ้าย หรือทางนิ้วก้อยของมือที่หงายขึ้น เรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า มัดหวายปัดก้อย
  4. มัดหวายคู่ หรือมัดหวายแฝด (double loop / twin loop)
    ลายนิ้วมือลักษณะนี้มีจุดเด่นคือมี 2 สันดอน รูปร่างคล้ายลายนิ้วมือแบบมัดหมาย 2 รูปประกบเข้าหากัน
  5. โค้งราบ (plain arch)
    เป็นลักษณะลายนิ้วมือที่กล่าวได้ว่าดูง่ายที่สุด มีจุดเด่นคือเส้นวิ่งจากขอบด้านหนึ่งไปจรดอีกด้านหนึ่งในลักษณะโค้งราบตามชื่อ
  6. โค้งกระโจม (tented arch)
    ลักษณะคล้ายลายนิ้วมือแบบโค้งราบ แต่มีจุดที่แตกต่างชัดเจน คือ เส้นที่อยู่ตรงกลางของลายนิ้วมือมีรูปร่างพุ่งขึ้นมาจากแนวนาน หรือมีลักษณะเป็นเส้นจำนวนสองเส้นมาบรรจบกันตรงกลาง ก่อเป็นมุมคล้ายมุมฉากหรือมุมแหลมคม
  7. ซับซ้อน (accidental whorl)
    ลายนิ้วมือลักษณะนี้มีความซับซ้อนสมชื่อ เนื่องจากเป็นลายนิ้วมือที่ผสมผสานลายนิ้วมือแบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยมีตั้งแต่ 2 สันดอนขึ้นไป
  8. ก้นหอยกระเป๋ากลาง (central pocket loop whorl)
    ลายนิ้วมือลักษณะนี้คล้ายกับแบบก้นหอยธรรมดา แต่มีจุดที่แตกต่างชัดเจน คือ หากลากเส้นจากสันดอนหนึ่งไปอีกสันดอน เส้นที่ลากจะไม่ตัดกับเส้นวงจรที่อยู่ภายในจึงจะแยกออกว่านี่คือ เส้นลายนิ้วมือแบบก้นหอยกระเป๋ากลาง ไม่ใช่แบบก้นหอยธรรมดา

ประโยชน์ของลายนิ้วมือกับการใช้งานในด้านต่างๆ

     ในปัจจุบันมนุษย์ได้นำเส้นลายนิ้วมือมาใช้ประโยชน์ในสาขาต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีคุณสมบัติที่โดดเด่น คือ ลายนิ้วมือเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์ตั้งแต่เกิดและไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไปจนวันสิ้นอายุขัย นอกจากนั้น เส้นลายนิ้วมือของมนุษย์แต่ละคนยังมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร จึงทำให้ลายนิ้วมือสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  1. ใช้สำหรับการพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบและพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลหรือตัวตนของเจ้าของลายนิ้วมือ
  2. ใช้สำหรับการตรวจสอบลายนิ้วมือบนวัตถุต่าง ๆ เพื่อตรวจหาเจ้าของลายนิ้วมือ โดยเฉพาะในการติดตามอาชญากรหรือผู้ต้องสงสัยในคดีความต่าง ๆ
  3. ใช้ในการบริหารงานบุคคล เช่น การใช้เครื่องสแกนลายนิ้วมือเพื่อยืนยันลายนิ้วมือเข้า-ออกงาน, การผ่านเข้าออกพื้นที่ควบคุมด้วยการใช้ลายนิ้วมือยืนยันผู้มีสิทธิผ่าน, การใช้ลายนิ้วมือยืนยันสิทธิเลือกตั้งผ่านเครื่องสแกนลายนิ้วมือ เป็นต้น
  4. ใช้สำหรับแสดงและยืนยันความเป็นเจ้าของ เช่น การยืนยันลายนิ้วมือเพื่อใช้งานสมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีการจำกัดผู้ใช้งานเพื่อความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย
  5. ใช้เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีไบโอเมตตริกส์ (Biometrics) สำหรับเก็บข้อมูลบุคคลที่เดินทางเข้า-ออกประเทศ อาทิ การสแกนนิ้วมือเพื่อผ่านด่านศุลกากร รวมไปถึงการตรวจสอบประวัติทางการแพทย์ และประวัติการเดินทางเข้าออกประเทศผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลทางศุลกากร นับว่ามีประโยชน์มากในด้านความมั่นคง

อ้างอิง: 1belief.com

Contact

โทรศัพท์ : 029972200 ต่อ 1283
โทรสาร : 029972200 ต่อ 1216
อีเมล : cjarsu@gmail.com

Address

มหาวิทยาลัยรังสิต เลขที่ 52/347 หมู่บ้านเมืองเอก ถ.พหลโยธิน ต.หลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี 12000