ป่วยทางจิต

กฎหมายเกี่ยวกับคนที่มีอาการ “จิต” ไม่ปกติ คุ้มครองประชาชนถึงขั้นไหน “หงายการ์ด” ภาวะจิตใจ ไม่ต้องรับโทษทางอาญาจริงหรือไม่

     ในบทความนี้ทางคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม จะพาทุกคนไปไขข้อประเด็นกฎหมายเกี่ยวกับคนที่มีอาการ ”จิต” ไม่ปกติ ที่มีการคุ้มครองประชาชนถึงขั้นไหน และจริงหรือไม่ที่ผู้ป่วยจิตไม่ปกติไม่ต้องรับโทษทางอาญา ซึ่งทางทีมข่าวอาชญากรรม ของเดลินิวส์ได้ไขข้อสงสัยกับ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และรองอธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน

อ้างเป็นผู้ป่วยทางจิตไม่ต้องรับโทษ?

     สำหรับบุคคลที่มีเหตุควรเชื่อว่า “ผู้ต้องหา” หรือ “จำเลย” เป็น “ผู้วิกลจริต” และไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ในระหว่างทำการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ให้พนักงานสอบสวนหรือศาล สั่งให้แพทย์ตรวจ แล้วแจ้งผล

     หากเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้จริง ให้งดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาไว้ จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริต จากนั้นจะส่งตัวไปรักษา ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเสียชั่วคราวก็ได้

นายโกศลวัตน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษก สำนักงานอัยการสูงสุด
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และรองอธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน

นิยามคนที่มีอาการป่วยทางจิต ผู้วิกลจริต

      ตามประมวลกฎหมายอาญา ระบุไว้ใน มาตรา 65 ผู้ใดกระทำความผิดขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษ แต่ศาลจะลงโทษ “น้อยกว่า” ที่กฎหมายกำหนด แต่จะอ้างเหตุอย่างการ “เมาสุรา” หรือ “เสพยาเสพติด” ไม่ได้ เว้นแต่ความมึนเมานั้น จะได้เกิดโดยผู้เสพไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้มึนเมา หรือถูกขืนใจให้เสพ และได้กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ ผู้กระทำความผิดจึงจะได้รับ “ยกเว้นโทษ” สำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้นั้นยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามมาตรา 66

การรับมือกับผู้ป่วยทางจิต

     การรับมือบุคคลดังกล่าว นายโกศลวัฒน์ ระบุ ปัจจุบันมีกฎหมายเพื่อแยกบุคคลเหล่านี้ไปรักษาตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 เมื่อพบบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ให้อำนาจพาตัวไปรักษาจนกว่าจะหายดี แม้แต่ในเรือนจำก็มีกฎหมายที่ดูแลเฉพาะกับผู้ต้องขังที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาเฉพาะด้าน หรือหากไม่ทุเลา สามารถส่งตัวไปสถานบำบัดเฉพาะทางนอกเรือนจำ

ขอขอบคุณ: เดลินิวส์

Contact

โทรศัพท์ : 029972200 ต่อ 1283
โทรสาร : 029972200 ต่อ 1216
อีเมล : cjarsu@gmail.com

Address

มหาวิทยาลัยรังสิต เลขที่ 52/347 หมู่บ้านเมืองเอก ถ.พหลโยธิน ต.หลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี 12000