เสวนา "ปฏิรูปตำรวจ" ปฏิรูป หรือ ปฏิลวง?
วันที่ 10 มีนาคม 2566 มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดเสวนา “ปฏิรูปตำรวจ” ปฏิรูป หรือ ปฏิลวง? ที่จัดตั้งโดย คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ภาคประชาชน นายวิทยา แก้วภารดัย รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีฯ และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายแทนคุณ จิตต์อิสระ พรรคประชาธิปัตย์ และ น.ส.ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ พรรคไทยสร้างไทย
นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ได้เสนอแนวทางการปฏิรูปตำรวจว่า ควรทำให้องค์กรตำรวจเล็กลง ตัดตำรวจที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจป่าไม้ ตำรวจรถไฟ ตำรวจน้ำ ตำรวจท่องเที่ยว เพื่อให้ตำรวจได้รับใช้ประชาชนมากขึ้น และควรลงโทษตำรวจที่ทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยความรวดเร็ว เพราะตำรวจทำงานใกล้ชิดประชาชน แต่ในความเป็นจริงการปฏิรูปตำรวจ ทำได้ยาก เพราะไม่มีใครทำจริงจัง และไม่มีคนยอมสละอำนาจ
นายวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ในสายตาของนักกฎหมาย ตำรวจคือกองกำลังติดอาวุธที่ดูแลความสงบสุขในประเทศ อีกทั้งยังถือกฎหมายหลายฉบับในมือ แต่ไม่ได้รู้จริง แม้นักกฎหมายที่เรียนจบนิติศาสตร์มายังไม่สามารถเชี่ยวชาญกฎหมายได้ทุกฉบับ จึงมองว่าตำรวจนั้นถือกฎหมายไว้มากเกินไป และต้องปฏิรูปภายใน แก้ปัญหาการซื้อขายตำแหน่ง เพราะมองว่าในอนาคต ตำรวจจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ หากยังใช้ระบบการวิ่งเต้นอยู่แบบนี้
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ตำรวจมีสายบังคับบัญชาคล้ายทหาร ทำให้มีระยะห่างกับประชาชน การแก้ปัญหาอาชญากรรมทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ตำรวจเป็นอาชีพที่ใกล้ชิดกับประชาชน ต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชน ให้ความเป็นธรรม ให้ความเสมอภาคกับประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกันแม้ประชาชนจะมีสถานภาพทางสังคมที่แตกต่างกัน แต่จากการวิจัย พบว่าในประเทศไทยเมื่อคนมีความแตกต่างด้านสถานสภาพทางสังคม ก็จะส่งผลต่อความแตกต่างด้านความยุติธรรมด้วย
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงรูปแบบองค์กรตำรวจในประเทศไทยว่า องค์กรตำรวจมีลักษณะการบังคับบัญชา มีชั้นยศ เหมือนกับทหาร ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว มองว่าองค์กรตำรวจที่มีลักษณะดังกล่าวส่งผลให้ตำรวจห่างจากประชาชน ทั้งด้านการรับฟังปัญหา การแก้ไขปัญหา รวมถึงการจัดการปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ
พล.ต.ต.ดร.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตำรวจต้องอยู่ข้างประชาชน ต้องคืนตำรวจให้ประชาชน และได้เรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจของตำรวจ ลดการใช้อำนาจที่ไม่ชอบ เปิดโอกาสกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ได้เป็นตำรวจ โดยเฉพาะปัจจุบันมีตำรวจผู้หญิงน้อยมาก ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเปิดให้ผู้หญิงได้เรียนนายร้อยตำรวจแต่ถูกยกเลิกไปแล้ว
นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงประสบการณ์ที่มีร่วมกับตำรวจ อย่าง นายชุติเดช สุวรรณเกิด ทีมงานของตนเอง ณ ขณะนั้น ถูกยิง 5 นัด ที่ตลาดนัดโกสุมรวมใจ ในปี 2544 ต่อหน้าลูกและภรรยา จนถึงตอนนี้เป็นเวลา 12 ปีแล้ว คดีไม่มีความคืบหน้า ซึ่งตำรวจที่ทำคดีนี้ก็ถูกกดดันไม่ให้สืบคดีต่อไปตนเองจึงตามสืบเองด้วยข้อมูลที่หาได้จากกล้องวงจรปิด แต่สุดท้ายก็ทำอะไรไม่ได้แม้มีหลักฐานชัดเจน ซึ่งรู้สึกเจ็บปวดมากกับกระบวนการตำรวจไทยในเหตุการณ์นี้ และได้กล่าวว่ากระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม จึงเสนอว่า องค์กรตำรวจต้องปรับโครงสร้างจากแนวดิ่งเป็นแนวราบ ปรับลดอำนาจ ยศ ตำแหน่ง และเปลี่ยนจากอำนาจเป็นอำนวยให้มากที่สุด ด้วยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า หากคิดถึงตำรวจ จะคิดถึง 3 สิ่ง ได้แก่
- อำนาจนิยม ตำรวจเป็นระบบที่มีอำนาจ ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับประชาชนด้วยความรู้สึกที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กลับเป็นความเกรงกลัวที่ประชาชนมีต่อตำรวจ ในองค์กรตำรวจเองก็มีความเป็นเจ้านายลูกน้อง แล้วตำรวจก็นำความรู้สึกนี้มาทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นลูกน้องของตำรวจ
- คอรัปชัน เช่น ส่วย ตั๋วช้าง ที่พบเห็นได้จากข่าวในปัจจุบัน การเล่นพรรคเล่นพวกในวงการตำรวจ เมื่อมีการเปลี่ยนผู้บัญชาการ หลายอย่างก็เปลี่ยน
- ชายเป็นใหญ่ พนักงานสอบสวนมักไม่มีผู้หญิง พอเกิดเหตุทางเพศ ก็เกิดช่องว่างระหว่างผู้เสียหายที่เป็นผู้หญิง หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)