การนอกใจ

สิทธิแพ่งคู่สมรส ‘การนอกใจ’ ฟ้องได้ ไม่ใช้ความรุนแรง

     การนอกใจ เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นไม่ว่ากับใครก็ตาม บางคู่ก็อาจจะยอมให้อภัยได้แต่ไม่ใช่ทุกคู่จะเป็นแบบนี้ บางคู่ก็มีปากเสียงกัน และร้ายแรงที่สุดคือการทำร้ายร่างกายกัน หากเลือกทางออกผิด ชีวิตที่เหลืออยู่อาจสูญสลายไปตลอดกาล ทั้งคนที่จากไป และคนที่ยังอยู่ แต่ต้องรับโทษเพราะคดีที่ลงมือทำร้ายกัน อย่างไรก็ตาม “คู่สมรส” กับการนอกใจ ประเทศไทยมีกฎหมายเป็นทางออกครับ

     ทีมข่าวอาชญากรรมจากทางเดลินิวส์ ได้สอบถามถึงข้อกฎหมายนี้กับ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองเลขาธิการสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะรองโฆษกฯ ให้ข้อแนะนำเมื่อเกิดการนอกใจของสามีภรรยา อันดับแรกคือ ผู้ฟ้องต้องผ่าน “การจดทะเบียนสมรส” หากไม่ได้จดทะเบียนสมรส ถือเป็นเพียง “คู่ชีวิต” ไม่สามารถฟ้องร้องได้ แม้รับรู้โดยทั่วกันว่าเป็นสามีภรรยา

นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองเลขาธิการสภาทนายความ

     การพบหรือรู้ว่าสามีหรือภรรยาตัวเองไปมีคนอื่น ถือว่าเป็นการนอกใจ อีกฝ่ายสามารถฟ้องหย่าได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ และสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนจากฝ่ายที่มาเป็นชู้กับคู่สมรส ตามมาตรา 1523

     การฟ้องร้องค่าทดแทนจากชู้ กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องฟ้องหย่ากับสามีหรือภรรยาก่อน หมายความว่าเราสามารถเลือกได้ว่าจะฟ้องหย่าคู่สมรส และฟ้องชู้ เพื่อเรียกค่าเสียหายจากทั้งสองฝ่าย หรือจะไม่หย่า แต่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากคนที่มาเป็นชู้ฝ่ายเดียวก็ได้ อย่างไรก็ตาม การฟ้องหย่านั้น หากฝ่ายคู่สมรสมีการยินยอมก่อนแล้ว จะไม่สามารถเรียกค่าสินไหมได้ ยกตัวอย่าง กรณีภรรยาหลวงหาภรรยาน้อยให้สามี เป็นต้น

     กรณีถูกผู้อื่นบังคับ หรือข่มขืนคู่สมรสเรา ตัวผู้เสียหายที่โดนกระทำสามารถยื่นฟ้องเองได้ตามกฎหมาย และตัวคู่สมรสก็สามารถฟ้องคู่กรณีฐานละเมิด ทำให้ได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง ตามสิทธิทางแพ่ง การที่สามีหรือภรรยานอกใจ “ไม่มีโทษทางอาญา” แต่เป็นเรื่องของการเสื่อมเสีย เรื่องของศีลธรรมจริยธรรม “เป็นเรื่องทางแพ่ง” และศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาคดีเหล่านี้คือ ศาลเยาวชนและครอบครัว ไม่ใช่ศาลทั่วไป

     สำหรับการฟ้องร้อง ตามมาตรา 1529 สิทธิการฟ้องโดยอาศัยเหตุในมาตรา 1516 (1) หรือมาตรา 1523 ย่อมระงับไปเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความจริง หรือหลักฐานการฟ้องเรื่องชู้สาวจะมีอายุความ 1 ปี หากเกินเวลาจะไม่สามารถใช้ฟ้องหย่าได้

หย่า

     ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นในครอบครัว หากสามีหรือภรรยาควบคุมสติอารมณ์ไม่ได้ ไปทำร้ายร่างกาย ก็มีความผิดเรื่องทำร้ายร่างกาย ถ้าถึงแก่ชีวิตก็เป็นเรื่องการฆ่าคนตาย หากโดนทำร้ายได้รับบาดเจ็บสาหัส ก็จะมีโทษคือ ทำร้ายร่างกายจนได้รับอันตรายสาหัส เป็นความผิดทางอาญา ที่มีโทษหนักเบาลดหลั่นกันไป

     ขณะที่หากไปทำร้ายชู้ ฝ่ายที่ถูกกระทำสามารถไปแจ้งความเรื่องทำร้ายร่างกายและเรียกร้องค่าเสียหายได้ เรื่องนี้ต้องแยกกัน เรื่องการนอกใจไปมีชู้เป็น “คดีความทางแพ่ง” แต่หากมีการทำร้ายร่างกาย ก็จะเป็น “คดีความทางอาญา” ไม่เกี่ยวพันกัน และเมื่อมีคดีเกิดขึ้น ผู้ที่กระทำผิดจะอ้างเหตุว่าบันดาลโทสะ ป้องกันตัว ศาลคงไม่ปรานี เพราะกฎหมายไทยก็มีมาตรการให้ฟ้องบังคับทางแพ่งอยู่

     เรื่องราวลักษณะนี้ สภาทนายความฯ เคยให้การช่วยเหลือไปจำนวนมาก เพราะเข้าเงื่อนไขที่กำหนด พร้อมฝากถึงผู้อาจเผชิญปัญหานี้ สามารถขอคำปรึกษาไปยังสภาทนายฯ ทุกจังหวัดทั่วประเทศได้

ขอขอบคุณ: เดลินิวส์

Contact

โทรศัพท์ : 029972200 ต่อ 1283
โทรสาร : 029972200 ต่อ 1216
อีเมล : cjarsu@gmail.com

Address

มหาวิทยาลัยรังสิต เลขที่ 52/347 หมู่บ้านเมืองเอก ถ.พหลโยธิน ต.หลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี 12000

 

Follow us